วิศวกร (อาชีพที่ เด็กๆหลายคนรู้จัก)

อาชีพวิศวกร

เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เด็กๆหลายคนมีความฝันแตกต่างกันไป บางคนก็อยากเป็นหมอ พยาบาล ตำรวจ ทหาร ครู เป็นต้น อาชีพวิศวกรเป็นอีกหนึ่งสาขาวิชาชีพที่มีหลายคนใฝ่ฝันอยากจะเป็นกันเยอะเลย แต่ถ้ายังไม่รู้จักคราวนี้เราจะมาแนะนำอาชีพนี้กัน

วิศวกรทำอะไรบ้าง

งานวิศวกรเป็นงานเกี่ยวกับอะไร หลายคนอาจจะยังไม่รู้ งานวิศวกรนั้นจะเกี่ยวข้องกับการออกแบบ วางแผน ควบคุม ดูแลเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร ตึกที่เราเห็นกันในปัจจุบันนั่นเอง งานนี้ยังต้องเกี่ยวข้องกับคน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรด้วย อีกทั้งต้องประเมินสถานการณ์แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้งานเสร็จตามกำหนดเวลามีความปลอดภัย

วิศวกรมีแบบไหนบ้าง

งานวิศวกรแม้ว่าจะเกี่ยวข้องกับการสร้างตึก บ้าน อาคาร เป็นหลักแต่ปัจจุบันได้มีการแตกแขนงวิศวกรออกไปอีกหลายสาขาเพื่อความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน วิศวกรเองก็แบ่งได้หลายสาขาเช่น งานวิศวกรรมไฟฟ้า, งานวิศวกรรมเครื่องกล, งานวิศวกรรมโยธา, งานวิศวกรรมอุตสาหการ, งานวิศวกรรมเคมี, งานวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และงานวิศวกรรมเหมืองแร่ ในอนาคตอาจจะมีสาขางานวิศวกรรมเพิ่มขึ้นอีกหลายสาขาเพื่อสอดรับกับเทคโนโลย และตลาดแรงงานในอนาคต

เส้นทางสู่อาชีพวิศวกรที่ควรรู้

งานวิศวกรต้องเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย และการวางแผนทำงานเพื่อให้ทันกำหนดเวลา ทำให้อาชีพวิศวกรต้องเรียนอย่างหนักเพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้พอสมควร เส้นทางการเป็นวิศวกรนั้นแบ่งได้เป็น 2 เส้นทาง เส้นทางแรกหลังจบม.3แล้ว เราเบนเข็มไปสายอาชีพ (ปวช.-ปวส.) ด้านประเภทช่างอุตสาหกรรม แล้วก็ไปต่อสาขาวิศวกรรมศาสตร์ระดับปริญญาตรี เส้นทางที่สองเรียนสายสามัญจนจบม.6(สายวิทย์-คณิต) จากนั้นก็ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์

อัตราเงินเดือน

เมื่อเราจบสาขาวิศวกรแล้วเราไปทำงานจะได้เงินเดือนประมาณเท่าไร คำถามนี้น่าสนใจ วิศวกรถือว่าเป็นอาชีพที่ได้รับเงินเดือนสูงมาก(ขึ้นอยู่กับสาขาวิศวกรของเราด้วย) แต่อย่างน้อยก็เริ่มต้นที่ 20,000 บาทเป็นอย่างน้อย(ไม่นับรวมสวัสดิการอื่นกับค่าล่วงเวลา)

ความสนุกและความยาก

มาว่ากันเรื่องความสนุก และความยากของอาชีพวิศวกรกันบ้าง อาชีพนี้จุดเด่นเป็นเรื่องของการสร้าง การออกแบบ การวางแผน และการทำงานโปรเจคนั้นให้เสร็จ แน่นอนว่าระหว่างทางการทำโปรเจคนั้นอาชีพวิศวกรจะต้องเจอปัญหามากมาย ทั้งปัญหาเรื่องคนไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างาน คนงาน ลูกค้า นายทุน ฯลฯ เรื่องเครื่องจักร เวลา กำหนดเส้นตายที่จะต้องทำให้ทัน(ไม่งั้นโดนปรับ) ความสนุก ความท้าทายมันอยู่ตรงนี้แหละ เมื่องานเสร็จแล้วเห็นสิ่งที่เราวาดไว้ในจินตนาการออกมาเป็นความจริงได้ มันจะเป็นความรู้สึกฟิน + ความภาคภูมิใจสุดๆ ว่าเราทำได้นะนี่แหละเสน่ห์แห่งอาชีพวิศวกร

สิ่งสำคัญของรากฐานของทุกๆอาชีพ ก็ คือ พื้นฐาน และสะเต็มศึกษา ก็เป็นส่วนสำคัญในการวางรากฐานในความเป็น วิศวกร

จุดเด่นที่ชัดเจนข้อหนึ่งของการจัดการเรียนการเรียนรู้แบบสะเต็ม คือการผนวกแนวคิดการออกแบบเชิงวิศวกรรมเข้ากับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ของผู้เรียน กล่าวคือ ในขณะที่นักเรียนทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และฝึกทักษะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ผู้เรียนต้องมีโอกาสนำความรู้มาออกแบบวิธีการหรือกระบวนการเพื่อตอบสนองความต้องการหรือแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เพื่อให้ได้เทคโนโลยีซึ่งเป็นผลผลิตจากกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม (NRC, 2012) กระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมประกอบด้วยองค์ประกอบ 6 ขั้นตอน ได้แก่

ขั้นตอนการคิดแบบ STEM ในเชิง วิศวกรรม

1.ระบุปัญหา (Problem Identification)

เป็นการทำความเข้าใจปัญหาหรือความท้าทาย วิเคราะห์เงื่อนไขหรือข้อจำกัดของสถานการณ์ปัญหา เพื่อกำหนดขอบเขตของปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างชิ้นงานหรือวิธีการในการแก้ปัญหา

2.รวบรวมข้อมูลและแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับปัญหา (Related Information Search)

เป็นการรวบรวมข้อมูลและแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการแก้ปัญหาและประเมินความเป็นไปได้ ข้อดีและข้อจำกัด 

3.ออกแบบวิธีการแก้ปัญหา (Solution Design)

เป็นการประยุกต์ใช้ข้อมูลและแนวคิดที่เกี่ยวข้องเพื่อการออกแบบชิ้นงานหรือวิธีการในการแก้ปัญหา โดยคำนึงถึงทรัพยากร ข้อจำกัดและเงื่อนไขตามสถานการณ์ที่กำหนด

4.วางแผนและดำเนินการแก้ปัญหา (Planning and Development)

เป็นการกำหนดลำดับขั้นตอนของการสร้างชิ้นงานหรือวิธีการ แล้วลงมือสร้างชิ้นงานหรือพัฒนาวิธีการเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา

5.ทดสอบ ประเมินผล และปรับปรุงแก้ไขวิธีการแก้ปัญหาหรือชิ้นงาน (Testing, Evaluation and Design Improvement)

เป็นการทดสอบและประเมินการใช้งานของชิ้นงานหรือวิธีการ โดยผลที่ได้อาจนำมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสมที่สุด

6.นำเสนอวิธีการแก้ปัญหา ผลการแก้ปัญหาหรือชิ้นงาน (Presentation)

เป็นการนำเสนอแนวคิดและขั้นตอนการแก้ปัญหาของการสร้างชิ้นงานหรือการพัฒนาวิธีการ ให้ผู้อื่นเข้าใจและได้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูล ดีๆจาก

เครดิต Copyright 2014 © STEM EDUCATION THAILAND และ https://www.cmeri.org

Message us